Pikachu

วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

บุหรี่..ทำไมถึงเลิกยาก?

บุหรี่ ทำไมถึงเลิกยาก
ทำไมเลิกบุหรี่ เป็นเรื่องยาก? thaihealth
ในยุคปัจจุบันนี้คงไม่มีใครไม่ทราบถึงอันตรายของบุหรี่ที่มีต่อสุขภาพของทั้งผู้สูบเองและผู้ที่อยู่รอบข้าง แต่จำนวนผู้สูบบุหรี่ในช่วงหลายปีมานี้กลับ ไม่ได้ลดลงเลย แม้จะมีการรณรงค์ส่งเสริมรวมถึงมี มาตรการทางกฎหมายเพื่อการเลิกบุหรี่มากสักเพียงใดก็ตาม
จากการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของ คนไทยโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 พบว่า ในจำนวนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปทั้งสิ้น 54.8 ล้านคน เป็นผู้ที่สูบบุหรี่มากถึง 11.4 ล้านคน หรือร้อยละ 20.7 โดยสูบเป็นประจำ 10 ล้านคน แล สูบนานๆ ครั้ง 1.4 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ที่มีผู้สูบบุหรี่อยู่ร้อยละ 19.9
มีการประเมินกันว่าผู้สูบบุหรี่เหล่านี้จำนวนถึง 1 ใน 4 จะเสียชีวิตด้วยโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ในอีก 10-20 ปีถัดไป เพราะควันบุหรี่มีสารเคมีมากกว่า 4,000 ชนิด โดยเป็นสารพิษมากกว่า 250 ชนิด และเป็นสารก่อมะเร็งมากกว่า 50 ชนิด ในแต่ละปีมีคนไทยจำนวนมากถึง 42,000 - 52,000 คนเสียชีวิตด้วยโรคที่เป็นผลมาจากการสูบบุหรี่โดยเฉพาะโรคมะเร็งปอด โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด และโรคถุงลมโป่งพอง ทั้งที่สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคลงได้อย่างมากเพียงแค่เลิกสูบบุหรี่เท่านั้น
ทำไมการเลิกบุหรี่จึงเป็นเรื่องยาก?
นายแพทย์ประธาน วาทีสาธกกิจ อายุรแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด ศูนย์โรคปอดและโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ให้ข้อมูลว่า สาเหตุก็เพราะบุหรี่นั้นไม่ต่างอะไรกับยาเสพติด โดยการติดบุหรี่สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ด้านหลักๆ ด้วยกัน คือ การติดทางจิตใจซึ่งมักเกิดจากความเคยชินและความเชื่อที่ว่าบุหรี่ช่วยให้เกิดความสบายคลายเครียดได้ กับการติดทางร่างกายซึ่งก็คือการติดนิโคตินที่เป็นสารเสพติดในบุหรี่นั่นเอง
จากการศึกษาพบว่าเมื่อสูบบุหรี่ สารนิโคตินจะดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิตและผ่านไปยังสมองอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 6 วินาทีเท่านั้น ผู้สูบจึงรู้สึกผ่อนคลาย ลดความวิตกกังวลลงได้ในทันที แต่ก็เป็นผลระยะสั้นเท่านั้น เพราะเมื่อระดับนิโคตินลดลง อารมณ์ทางบวกนั้นก็หายไป หากต้องการความสบายอีกก็ต้องสูบอีกจนกลายเป็นการเสพติดในที่สุด
เมื่อติดบุหรี่แล้ว การจะเลิกมักทำได้ยาก เพราะสิ่งที่ตามมาคืออาการถอนยาหรืออาการขาดนิโคติน ซึ่งจะเริ่มภายใน 4-6 ชั่วโมงหลังการหยุดบุหรี่ โดยผู้สูบจะมีอาการดังนี้ คือ อาการด้านอารมณ์และจิตใจ ได้แก่ อยากยา ซึมเศร้า วิตกกังวล กระวนกระวาย หงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย สมาธิลดลง นอนไม่หลับ อาการด้านร่างกาย ได้แก่ หัวใจเต้นช้าลง อยากอาหาร น้ำหนักตัว เพิ่มขึ้น ไม่มีเรี่ยวแรง ปวดศีรษะ ท้องผูก เหงื่อออก เป็นต้น
สำหรับวิธีเลิกบุหรี่นั้นสามารถทำได้หลายวิธี ทั้งโดยการใช้ยาและไม่ใช้ยา เช่น วิธีหักดิบหรือเลิกด้วยตัวเอง โดยการหยุดสูบบุหรี่ทันที อย่างไรก็ตาม จากสถิติพบว่าร้อยละ 90 ของผู้ที่พยายามเลิกบุหรี่ด้วยตัวเองไม่ประสบความสำเร็จในการเลิกและกลับไปสูบใหม่ภายใน 1 สัปดาห์เพราะเกิดอาการขาดนิโคตินนั่นเอง
การใช้พฤติกรรมบำบัด เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เคยชิน รวมถึงหลีกเลี่ยงอารมณ์ที่ทำให้เกิดความอยากสูบ การใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่ โดยปัจจุบันมียา 2 กลุ่ม ได้แก่ ยาที่มีสารนิโคตินทดแทนในขนาดต่ำใน รูปแบบของหมากฝรั่งอดบุหรี่ หรือแผ่นแปะผิวหนังนิโคติน กับยาชนิดเม็ดที่ไม่มีนิโคตินสำหรับช่วยลดอาการถอนยา เนื่องจากขาดนิโคติน การฝังเข็ม เพื่อช่วยลดอาการอยากและคลายความหงุดหงิด
ทั้งนี้ ผู้สูบบุหรี่อาจใช้หลายวิธีร่วมกันได้แต่ควรเริ่มด้วยวิธีไม่ใช้ยาก่อน หากเลิกไม่ได้จึงพิจารณาเลิกด้วยวิธีใช้ยาต่อไป
นอกจากนี้ ในการวางแผนเลิกบุหรี่นั้น สิ่งที่ควรทำควบคู่กันไปคือการเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคที่เป็นผลจากการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะโรคมะเร็งปอดซึ่งมีบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดถึงร้อยละ 90 และผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นโรคมากกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง 22 เท่า
โรคมะเร็งปอด เป็นโรคที่ไม่มีอาการเตือนในระยะแรก กว่าที่ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ก็เป็นระยะที่ลุกลามแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายแล้ว ดังนั้น ผู้ที่สูบบุหรี่ทั้งที่ยังสูบอยู่หรือเคยสูบแต่เลิกสูบมาเป็นเวลาน้อยกว่า 15 ปี มีอายุ 50 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวสูบบุหรี่ ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดด้วยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (low-dose computed tomography) ซึ่งเป็นการตรวจที่ใช้ปริมาณรังสีน้อยและใช้วิธีการถ่ายภาพสามมิติที่ให้ความละเอียดมากกว่าวิธีการตรวจเอกซเรย์ปอดธรรมดา
ในส่วนของการเลิกบุหรี่ด้วยวิธีพฤติกรรมบำบัดนั้น ศูนย์โรคปอดและโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดให้บริการด้านการเลิกบุหรี่มานานถึง 10 ปี ภายใต้การดูแลของแพทย์และมีพยาบาลผู้ประสานงานทางคลินิกเป็นผู้ให้คำปรึกษา โดยใช้วิธีเสริมสร้างแรงจูงใจภายในเพื่อการเลิกบุหรี่ เนื่องจากแรงจูงใจภายในเป็นปัจจัยสำคัญในการปรับพฤติกรรมเลิกสูบบุหรี่ โดยผู้ป่วยจะได้รับการบำบัดตามหลักการ 5A ก่อนเข้ารับคำปรึกษา ซึ่งได้แก่ Ask การสอบถามอาการและพฤติกรรมการสูบบุหรี่ Advise การแนะนำวิธีเลิกบุหรี่โดยการสร้างแรงจูงใจ Assess การประเมินอาการผู้สูบบุหรี่ Assist การช่วยเหลือเมื่อผู้สูบบุหรี่เกิดความอยากบุหรี่ Arrange การติดตามผลการปรับพฤติกรรมของ ผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การให้บริการปรึกษานั้นจะใช้ระยะเวลา ทั้งสิ้น 1 ปี เริ่มตั้งแต่การประเมินสภาวะการเสพติดบุหรี่ด้วยการวัดระดับการติดสารนิโคตินและระดับก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ การให้คำปรึกษาที่สอดคล้องกับระดับความต้องการที่จะเลิกสูบบุหรี่ เช่น ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะยังไม่คิดจะเลิกสูบบุหรี่ ผู้ป่วยที่คิดจะเลิกแต่ยังไม่มีความมั่นใจ ผู้ป่วยที่ตั้งใจและพร้อมจะเลิก และผู้ป่วยที่เริ่มลงมือเลิกสูบแล้วแต่ยังไม่สำเร็จ การติดตามผู้ป่วยทั้งโดยตรงและทางโทรศัพท์เพื่อให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด ด้วยการให้คำปรึกษาอย่างเป็นระบบและครบวงจรโดยทีมสหสาขาวิชาชีพที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านเพื่อช่วยให้ผู้สูบบุหรี่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเลิกบุหรี่ให้ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น