ตุลย์
วันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2560
จักรวาล
จักรวาลของเราที่มีดวงอาทิตย์ เป็นศูนย์กลางนั้นได้ ถือกำเนิดมาจากกลุ่มแก๊สร้อนกลุ่มหนึ่ง ของทางช้างเผือก เมื่อประมาณ 5,000 ล้านปีมาแล้ว จักรวาลนี้เป็นจักรวาลที่มีความไม่ธรรมดา อยู่หลายประการ เช่น มีสิ่งมีชีวิต มีวงโคจรของดาวเคราะห์บริวารของจักรวาลนี้ ที่แทบจะอยู่ในระนาบเดียวกันหมด นอกจากนี้ดาวเคราะห์ส่วนมาก จะหมุนรอบตัวเองในทิศทางเดียวกัน ยกเว้นดาวศุกร์และพลูโต ซึ่งหมุนสวนทิศกับดาวดวงอื่นๆ ที่แปลกสุดแปลกคือดาวมฤตยูนั้น จะตะแคงตัวหมุน ครั้นเมื่อนักดาราศาสตร์ เปรียบเทียบความเร็วในการโคจร ของดาวเคราะห์และดวงอาทิตย์แล้ว เขาก็พบว่าดวงอาทิตย์ของเรา หมุนช้าอย่างแทบไม่น่าเชื่อ แค่นี้ยังไม่พอ นักวิทยาศาสตร์ก็ยังรู้แปลก ที่ยังตอบไม่ได้ว่าเหตุใดดวงจันทร์ ของโลกและดวงจันทร์ของดาวพลูโตจึงมีขนาดใหญ่เมื่อเปรียบเทียบกับดาวแม่ ในขณะที่ดวงจันทร์ของดาวเคราะห์อื่นๆ นั้นเล็กนิดเดียว และดวงจันทร์เหล่านั้นมาจากไหน เหตุใดดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์จึงประกอบด้วยธาตุหนัก แต่เหล่าดาวที่อยู่ไกลจึงมีองค์ประกอบที่เป็นธาตุเบา เหตุใด เหตุใด และเหตุใด
ทฤษฎีใดๆ ของสุริยจักรวาลที่ถูกต้อง และสมบูรณ์จะต้องอธิบายและตอบคำถามต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ได้หมด
ในอดีตเมื่อประมาณ 200 ปีมาแล้ว นักดาราศาสตร์เคยวาดฝันเกี่ยวกับกำเนิดของสุริยจักรวาลว่าได้มีดาวฤกษ์ดวงใหญ่อีกหนึ่งดวงโคจรมาใกล้ดวงอาทิตย์ของเรา และแรงดึงดูดอันมหาศาลของดวงดาวนั้นได้ดึงดูดแก๊สร้อนจากดวงอาทิตย์ให้หลุดปลิวลอยไปในอวกาศ เมื่อแก๊สนั้นเย็นลง มันจึงจับตัวแข็งเป็นดาวเคราะห์ แต่หลักฐานต่างๆ ในปัจจุบันส่อแสดงให้เห็นแล้วว่า ดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์ต่างๆ นั้นเกิดมาพร้อมๆ กัน ดังนั้นทฤษฎีนี้จึงต้องตกไป
ส่วนนักปราชญ์ชื่อ Kant และนักฟิสิกส์ชื่อ Laplace นั้นเคยเชื่อว่า สุริยจักรวาลเกิดจากกลุ่มแก๊สที่หมุนรอบตัวเองจนมีลักษณะเป็นจานกลมเมื่อส่วนต่างๆ ของขอบจานเย็นลงมันจะหดตัวและจับตัวรวมกันเป็นดาวเคราะห์ต่างๆ แต่ถ้าทฤษฎีนี้เป็นจริง เมื่อดาวเคราะห์ต่างๆ ถือกำเนิดขึ้นมาแล้ว ดวงอาทิตย์ก็ควรจะหมุนเร็วขึ้น แต่กลับปรากฏว่าดวงอาทิตย์นั้นหมุนช้ามาก ทฤษฎีนี้จึงต้องมีการปรับปรุง
การสังเกตข้อมูลที่ดาวเทียม Infrared Astronomical Satellite ส่งมา ทำให้นักวิทยาศาสตร์ ได้เห็นดาวฤกษ์หลายดวง เช่น Beta Pictoris ว่ามีแก๊สเย็นห้อมล้อมอยู่ การเห็นนี้จึงทำให้นักดาราศาสตร์ปัจจุบันคิดว่า นี่คือภาพของสุริยจักรวาลตอนถือกำเนิดใหม่ๆ
ก็ในเมื่อกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Hubble Space Telescope ที่สหรัฐฯ ส่งขึ้นไปค้นหาดาวเคราะห์ ยังใช้การไม่ได้ นักวิทยาศาสตร์ จึงต้องหันมาพึ่งพาอาศัยอุปกรณ์อื่นๆ จึงขณะนี้ได้มีนักวิจัยบางคน ใช้คอมพิวเตอร์สร้างแบบจำลองการกำเนิด ของสุริยจักรวาลขึ้นในจอ โดยรวมกำหนดว่าในตอนเริ่มต้น มีดาวเคราะห์ที่มีขนาดพอๆ กับโลกเราประมาณ 500 ดวง แล้วดาวเหล่านี้ชนกันหรือกัน โดย G. Wetherill แห่งสถาบัน Carnegie ที่ Washington ได้พบว่ากระบวนการชนบิลเลียดในอวกาศ ลักษณะนี้สามารถนำไปสู่การเกิดดาวเคราะห์ 9 ดวงดังที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ได้ และโลกของเราจะต้องถูกชน ด้วยอุกกาบาตที่มีขนาดใหญ่เท่าดาวพุธ จึงจะทำให้ ชิ้นส่วนหนึ่งของโลกหลุดออกไป เป็นดวงจันทร์
จะยังไงก็ตามแต่ ตราบเท่าทุกวันนี้ เราก็ยังไม่มีทฤษฎีกำเนิดสุริยจักรวาล ที่สมบูรณ์ดีเลย จึงเป็นว่าสนามความคิดสำหรับเรื่องนี้ ยังมีอาณาบริเวณกว้างพอที่ จะรองรับจิตนาการจากคนทุกคนครับ
สร้างหุ่นสวยด้วย"โปรตีน"
แฟ้มภาพ
“ภาวะน้ำหนักเกิน” หรือ “โรคอ้วน” ไม่เพียงสร้างปัญหาในแง่ของภาพลักษณ์ภายนอกเท่านั้น หากแต่ยังเป็นภัยเงียบของปัญหาสุขภาพในคนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็กๆจนถึงผู้ใหญ่วัยเกษียณ โดยเฉพาะโรคเรื้อรังหลายโรคที่เป็นอันตรายต่อชีวิต ทั้งโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด แต่ถ้าสามารถควบคุมน้ำหนักได้ก็จะช่วยให้อาการของโรคทุเลาลงได้
ศ.นพ.สุรัตน์ โคมินทร์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโภชนบำบัดต่อมไร้ท่อและเบาหวาน บอกว่า ความอ้วนไม่ใช่สิ่งที่แก้ไขไม่ได้ แต่ต้องแก้ไขให้ถูกวิธีเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อร่างกาย ส่วนใหญ่การดูแลเบื้องต้นจะเน้นไปที่การควบคุมน้ำหนัก ด้วยการควบคุมอาหารตามหลักโภชนาการ รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ อย่างถูกสัดส่วน โดยไม่จำเป็นต้องอดอาหาร เพียงเลือกรับประทานอาหารแต่ละหมวดหมู่อย่างเหมาะสม และต้องมีการเคลื่อนไหวร่างกายด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
"มีการศึกษาพบว่าการลดน้ำหนักตัวลงไปเพียง 5-10 เปอร์เซ็นต์ จากน้ำหนักที่เป็นอยู่ ก็สามารถช่วยให้การทำงานต่างๆ ของร่างกายดีขึ้นได้ ก็สุขภาพดีขึ้น ทั้งยังช่วยลดโอกาสการเป็นเบาหวานได้เกือบครึ่ง ลดไขมัน และความดันโลหิตสูง ฯลฯ" ศ.นพ.สุรัตน์ บอก
ส่วนสาเหตุที่ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จในการลดน้ำหนักคือ มีความเชื่อหรือความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร อย่างเช่นบางคนเข้าใจผิดคิดว่าแค่ทานผักผลไม้ก็สามารถช่วยลดความอ้วนได้ นั่นเพราะยังไม่เข้าใจว่าในผักและผลไม้นั้นมีองค์ประกอบสำคัญคือคาร์โบไฮเดรต ได้แก่ แป้งและน้ำตาล ที่ร่างกายจะเก็บสะสมได้ง่ายหากรับประทานมากเกินไป และยิ่งไปกว่านั้นคือเมื่อแป้งเปลี่ยนเป็นน้ำตาลร่างกายจะสะสมและเก็บซ่อนน้ำตาลเอาไว้ในรูปแบบอื่นเช่น ไขมันในเลือด ไขมันพอกตามส่วนต่างๆของร่างกาย โดยเฉพาะไขมันที่พอกตับที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคตับอักเสบได้ จึงไม่น่าแปลกที่หลายคนทานเพียงผลไม้แต่น้ำหนักกลับไม่ลดลง หรืออาจจะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ ก็เนื่องจากการรับประทานคาร์โบไฮเดรตที่แฝงอยู่ในผักและผลไม้นั่นเอง
นอกจากนี้ ยังพบสิ่งที่น่าสนใจจากผลการศึกษาจากการเก็บข้อมูลจากผู้ป่วยน้ำหนักเกินจำนวน 1,000 คน พบว่า 30% ของคนที่มีปัญหาน้ำหนักตัว มักจะมีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้ออ่อนแรง ในทางกลับกันกลับพบว่ามีปริมาณไขมันในร่างกายมาก ผิวไม่เปล่งปลั่ง อ่อนเพลียง่าย
การศึกษาในคนอ้วนกลุ่มนี้ พบว่ามีผู้หญิงมากกว่าร้อยละ31 และผู้ชายกว่าร้อยละ 33 มีการบริโภคอาหารโปรตีนน้อย ชี้ให้เห็นว่า ผู้ป่วยที่อ้วนนั้นไม่ได้เกิดจากการบริโภคอาหารเกินความจำเป็นเท่านั้น หากแต่ยังเกิดจากการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกสัดส่วนด้วย โดยเฉพาะการรับประทานโปรตีนไม่เพียงพอ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากโปรตีนที่อยู่ในกล้ามเนื้อทำหน้าที่ช่วยการเผาผลาญพลังงานของร่างกายให้ดีขึ้น พูดง่ายๆคือโปรตีนเป็นตัวเร่งการเผาผลาญนั่นเอง ที่สำคัญโปรตีนยังเป็นสารอาหารที่ร่างกายไม่ค่อยกักเก็บไว้ คือรับประทานแล้วร่างกายนำไปใช้เสริมสร้างอวัยวะต่างๆและเสริมสุขภาพและภูมิต้านทาน. ส่วนที่เหลือก็จะถูกขับทิ้งออกไป นอกเสียจากว่าร่างกายเกิดอาการบาดเจ็บหรือต้องการซ่อมแซมอวัยวะและกล้ามเนื้อ ร่างกายก็จะเก็บและนำไปใช้ในส่วนนั้นๆ
"หลักการง่ายๆคือ ในอาหารทุกมื้อควรต้องมีโปรตีน โดยคนเราต้องทานโปรตีนให้ได้ 1 กรัมต่อ 1 กิโลกรัมของน้ำหนักตัว เช่น คนน้ำหนัก 60 กิโลกรัม ต้องการปริมาณโปรตีน 60 กรัม แต่ในเนื้อสัตว์หรืออาหารประเภทโปรตีนที่เราทานนั้นมีโปรตีนอยู่เพียง 20% เท่ากับว่า ในแต่ละวันคนน้ำหนัก 60 กิโลกรัม จะต้องทางอาหารประเภทโปรตีนให้ได้ 300 กรัม (คูณ 5) จึงจะเพียงพอ" ศ.นพ.สุรัตน์ อธิบาย
จะเห็นได้ว่าการรับประทานโปรตีนที่มีคุณภาพเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีน้ำหนักตัวเกิน ศ.นพ.สุรัตน์ แนะนำให้บริโภค ปลาน้ำจืด เช่นปลาช่อน ปลาสวาย ปลานิล ปลาทับทิม ซึ่งเป็นโปรตีนคุณภาพสูงจึงทำให้อิ่มเร็วขึ้น และย่อยง่าย โปรตีนจากปลายังเป็นแหล่งของโอเมกา-3 ที่มีประโยชน์มากมาย ทั้งช่วยลดการอักเสบภายในร่างกาย ช่วยลดการเกิดโรคหัวใจและไขมันในหลอดเลือด ลดการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ ป้องกันโรคความจำเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ เสริมสร้างเซลสมองและการมองเห็นในทารกตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์มารดา นอกจากนี้ ยังมีไข่ไก่ เนื้อไก่และเนื้อหมูไม่ติดมันที่เป็นโปรตีนให้เลือกรับประทานได้ในแต่ละมื้อ
ส่วนไขมันซึ่งร่างกายไม่ค่อยเผาผลาญอยู่แล้ว หากทานมากก็เก็บสะสมมากก็จะนำไปสะสมเช่นกัน ต้องรู้จักเลือกรับประทาน
สำหรับการควบคุมน้ำหนักตัวให้ได้ผล ต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานทานอาหารอย่างถูกต้องและจริงจัง เนื่องจากผู้มีนำหนักเกินนั้นปัญหาส่วนใหญ่มักเกิดจากรูปแบบการใช้ชีวิตและพฤติกรรมการบริโภคที่คล้ายคลึงกัน คือ ชอบรับประทานอาหารที่มากเกินความจำเป็น โดยเฉพาะอาหารหวานมัน น้ำหวานในรูปต่างๆ ละหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายแม้เพียงการเคลื่อนไหวตามปกติที่นานหน่อย
ดังนั้นต้องหันมาปรับพฤติกรรมการรับประทานใหม่ ด้วยการลดการทานอาหารที่มีกากใยน้อย เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว น้ำตาล น้ำผลไม้ และเครื่องดื่มรสหวาน แต่เพิ่มการทานอาหารที่มีปริมาณกากใยมาก เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท ผลไม้ที่ไม่หวานจัด อาหารจำพวกถั่วเป็นของดีมีกากใยมาก แต่ก็ให้พลังงานมาก ถ้ากินมากเกินไป อาหารจำพวกผักเป็นสิ่งที่บริโภคได้มากโดยไม่จำกัด ลดการทานอาหารประเภททอด ที่ต้องใช้น้ำมันมากๆ ควรเลือกทานอาหารประเภทนึ่ง หรือต้ม หรือย่าง หลีกเลี่ยงการปรุงรสเพิ่ม แต่ใช้ความหวานตามธรรมชาติ หากจำเป็นต้องทานเช่นในกลุ่มคนที่เป็นโรคเบาหวานสามารถใช้น้ำตาลเทียมทดแทนได้
นอกจากนี้ ศ.นพ.สุรัตน์ ยังแนะนำเทคนิคบันได 7 ขั้น ในการควบคุมน้ำหนัก คือ
1. รู้ตน ต้องตั้งใจเอาจริง รู้ว่าตนเองมีปัญหามากน้อยเพียงใด มีการตั้งเป้าในการลดน้ำหนักที่พอดีกับตนเอง ควรจะลดน้ำหนักเร็วเพียงใด เพราะหากเราลดน้ำหนักมากไป หรือเร็วเกินไป อาจไม่ช่วยให้เกิดสุขภาพที่ดี
2. รู้นับ คือ รู้ว่าในแต่ละวันเรารับประทานอะไรเข้าไปบ้าง
3. รู้แลก คือ รู้จักแลกเปลี่ยน รู้ว่าอะไรควรรับประทานอะไรควรงดเว้น
4. รู้แผน มีการวางแผนการรับประทานอาหาร โดยอาจกำหนดเมนูอาหารในแต่ละมื้อ รู้จักหลีกเลี่ยงในการที่อาจจะต้องเจอในแต่ละวัน
5. รู้ขยับรู้จักการเคลื่อนไหว โดยอย่างน้อยวันหนึ่งควรออกกำลังกายประมาณ 20 นาที
6. รู้ทบทวน หาเวลาเพื่อนั่งทบทวนว่าในแต่ละวันเรารับประทานอะไรเข้าไปบ้าง กินอะไรแล้วได้ผลดี สังเกตสุขภาพ ร่างกายตัวเอง มีอะไรต้องแก้ไข อาจใช้บันทึกประจำวัน
7. ชวนเปลี่ยนแปลง วิธีการอย่างนี้ไม่ต้องเข้มงวดเกินไป ไม่ได้เร่งแต่ไม่ช้า
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือเคล็ดลับง่ายๆในการลดน้ำหนัก ที่เชื่อว่าทุกคนรู้ดีอยู่แล้ว ว่าต้องสร้างพฤติกรรมการบริโภคที่ถูกต้อง ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายที่เหมาะสม หากหัวใจของการลดน้ำหนักให้สำเร็จนั่น ก็ขึ้นอยู่กับวินัยและความตั้งใจเป็นหลักด้วย และต้องคิดอยู่เสมอว่า "you are what you eat" คือ "กินอย่างไรก็จะเป็นอย่างนั้น" นั่นคือ กินแต่พอดี พอเหมาะ และสมดุล เพื่อสร้างสุขภาพที่ดีและน้ำหนักตัวที่เหมาะสมอย่างยั่งยืน
วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560
เบาหวานในเด็กและวัยรุ่น
แฟ้มภาพ
เด็กเป็นเบาหวานได้ด้วยหรือ
คนส่วนใหญ่อาจไม่ค่อยคุ้นเคยกับโรคเบาหวานในเด็ก จนอาจสงสัยว่าเด็กและวัยรุ่น (อายุน้อยกว่า 20 ปี) เป็นเบาหวานได้ด้วยหรือ เด็กที่เป็นเบาหวานเนื่องมาจากขาดอินซูลิน หรือการออกฤทธิ์ของอินซูลินไม่ดี เนื้อเยื่อต่าง ๆ ใช้น้ำตาลไม่ได้ จึงทำให้น้ำตาลในเลือดสูง
ชนิดของเบาหวานที่พบในเด็ก
เบาหวานที่พบในเด็กและวัยรุ่นสามารถจำแนกได้เป็น 3 ชนิด คือ
* เบาหวานชนิดที่ 1 เป็นโรคทางภูมิคุ้มกันชนิดหนึ่ง กล่าวคือร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นต่อต้านตนเอง (autoimmune) แล้วภูมิคุ้มกันนี้ได้ไปทำลายตับอ่อนทีละ น้อย ๆ จนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ในที่สุด เบาหวานชนิดนี้เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุดในเด็กและวัยรุ่น (ประมาณร้อยละ 70 ของผู้เป็นเบาหวานที่เป็นเด็กและวัยรุ่น)
* เบาหวานชนิดที่ 2 เป็นแบบเดียวกับเบาหวานที่พบมากในผู้ใหญ่ ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญได้แก่ภาวะอ้วน และ มักมีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคเบาหวาน
* เบาหวานที่เกิดจากยาหรือการติดเชื้อบางชนิด เช่น เด็กที่กินยาสเตียรอยด์ในปริมาณมากและติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะมีอาการหน้าบวม ตัวกลม ระดับน้ำตาลในเลือดสูง เป็นต้น
เบาหวานชนิดที่ 1
เบาหวานชนิดที่ 1 ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน มีสมมุติฐานว่าผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงด้านพันธุกรรมบางอย่าง ร่วมกับมีปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมมากระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านตับอ่อนตนเอง ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุถึงปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวได้อย่างชัดเจน แต่มีการศึกษาว่าอาจเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อบางชนิด หรือการที่สมดุลจุลินทรีย์ในร่างกายเปลี่ยน แปลงไป จนส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันและตับอ่อนในที่สุด
อาการ
สำหรับอาการของโรคเบาหวาน เกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง น้ำตาลถูกขับออกมาทางปัสสาวะ อาจมีประวัติปัสสาวะมีมดตอม มีปัสสาวะบ่อยและเยอะ หรือมีปัสสาวะรดที่นอนในวัยที่ไม่สมควร เมื่อร่างกายเสียน้ำมาก จึงมีอาการกระหายน้ำบ่อยผิดปกติ และเนื่องจากร่างกายนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานไม่ได้ จึงมีอาการอ่อนเพลีย กินจุ หิวบ่อย น้ำหนักลด และหากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง ก็อาจมีเลือดเป็นกรดและคีโตนคั่ง เราเรียกภาวะนี้ว่า "ดีเคเอ" (DKA; Diabetic ketoacidosis) ซึ่งเป็นภาวะที่ฉุกเฉิน บางคนอาจอาเจียน ปวดท้อง หายใจหอบหรืออาจหมดสติ ซึ่งต้องการรักษาอย่างเหมาะสมโดยรีบด่วน
การรักษา
การรักษาเด็กกลุ่มนี้ คือ ต้องได้รับอินซูลินทดแทน ซึ่งในปัจจุบันจำเป็นต้องได้รับอินซูลินโดยรูปแบบฉีดเท่านั้น มีความพยายามผลิตอินซูลินในรูปแบบอื่น ๆ เช่นรับประทาน หรือแบบพ่นทางปาก แต่พบว่าได้ผลไม่ดีเนื่องจากอินซูลินถูกทำลายได้ง่ายในกระเพาะอาหารผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 จำเป็นต้องฉีดอินซูลินวันละอย่างน้อย 3-4 ครั้ง ทุก ๆ วันไปตลอดชีวิต และตรวจน้ำตาลปลายนิ้วด้วยตนเอง รวมถึงมีการพัฒนาเครื่องมือสำหรับเดินยาอินซูลินแบบต่อเนื่อง ใต้ผิวหนัง ปัจจุบัน ได้มีการคิดค้นการรักษา อื่น ๆ เช่น ตับอ่อนเทียม (artificial pancreas)
ซึ่งจะอาศัยองค์ประกอบ 3 อย่างได้แก่ เครื่อง ให้อินซูลินแบบต่อเนื่อง (insulin infusion pump) เครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลต่อเนื่อง (continuous glucose sensor) และระบบประมวลผล วิเคราะห์ข้อมูลและคำนวณการให้อินซูลิน ปัจจุบันเทคโนโลยีดังกล่าวยังใช้ในวงจำกัดในโครงการวิจัย ยังไม่ได้นำมาใช้ในผู้เป็นเบาหวานโดยทั่วไป สำหรับการปลูกถ่ายตับอ่อนและเบต้าเซลล์ เป็นความก้าวหน้าอย่างหนึ่งในการหาวิธีการรักษาเบาหวานให้หายขาด อย่างไรก็ตามเมื่อติดตามไประยะยาว ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่สามารถหยุดยาฉีดอินซูลินอย่างถาวรได้ และจำเป็นต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกันระยะยาว นักวิจัยทั่วโลกมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะพัฒนาเซลล์ซึ่งสามารถสร้างอินซูลินได้จากแหล่งอื่น ๆ เช่นจากเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (stem cells) ซึ่งยังอยู่ในการศึกษาวิจัย
การจัดอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 จะไม่จำกัดพลังงานมากเหมือนกับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เนื่องจากผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 มักจะผอมอยู่แล้ว แนะนำให้รับประทานอาหารตามปกติที่ต้องการตามวัย โดยสัดส่วนพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตอยู่ที่ร้อยละ 50 ของพลังงานทั้งหมดที่ได้รับในหนึ่งวัน และเลือกคาร์โบไฮเดรตที่ไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดขึ้นเร็วหรือขึ้นสูง (มีค่า glycemic index ต่ำ) เช่น ควรรับประทานอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตจากข้าวหรือธัญพืชที่ไม่ขัดสี หลีกเลี่ยงการรับประทานคาร์โบไฮเดรตจากขนมหวาน เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงอาหารที่เค็มจัด หรือมีไขมันสูงเกินไป เป็นต้น
เด็กและวัยรุ่นผู้เป็นเบาหวานควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ สามารถเล่นกีฬา เรียนพละได้เช่นเดียวกับคนทั่วไป ไม่ควรมีการถูกจำกัดกิจกรรมใด ๆ การออกกำลังกายเป็นการกระตุ้นให้กล้ามเนื้อใช้พลังงาน มีประโยชน์มากในการควบคุมระดับน้ำตาลและมีผลดีต่อสุขภาพด้วย แนะนำให้ออกกำลังกายหรือกิจกรรมออกแรงอย่างน้อยวันละ 20-30 นาทีทุกวัน โดยสอนให้ผู้ป่วยปรับลดขนาดอินซูลินหรือเพิ่มมื้ออาหารว่างขณะออกกำลังกายเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาน้ำตาลต่ำ
เบาหวานชนิดที่ 2
ปัจจุบันพบเบาหวานชนิดที่ 2 เริ่มเป็นกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ในเด็กวัยรุ่นที่มีภาวะอ้วน ทั้งนี้เนื่องจากอุบัติการณ์ของโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกช่วงวัย รวมถึงเด็กและวัยรุ่นด้วย เบาหวานชนิดที่ 2 นี้ ตับอ่อนยังสร้างอินซูลินได้ แต่เนื่องจากร่างกายอ้วนมาก เลยดื้อต่ออินซูลิน ทำให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่พอเพียง อย่างไรก็ตามเบาหวานชนิดที่ 2 นี้ป้องกันได้ด้วยการลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย ควบคุมอาหารให้ดี ซึ่งอาจช่วยให้สามารถควบคุมน้ำตาลได้ โดยไม่ต้องใช้ยาฉีดหรือยารับประทาน การเฝ้าติดตามการเจริญเติบโตของเด็ก รีบวินิจฉัยและรักษาโรคอ้วนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญในการป้องกัน
กำลังใจ : สิ่งสำคัญในการรักษา
กำลังใจนับเป็นสิ่งสำคัญในการรักษา ทั้งจากพ่อแม่ของผู้ป่วย เพื่อน และคุณครู ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจที่ จะดำเนินชีวิตอย่างคนปกติ กล้าเปิดเผยว่าตนเองเป็นเบาหวาน มีผู้ป่วยเบาหวานตั้งแต่เด็กจำนวนมากที่สามารถใช้ชีวิตจนประสบความสำเร็จ เช่น เป็นแพทย์ เป็นวิศวกร หรือศึกษาสำเร็จระดับปริญญาเอก การเป็นโรค เบาหวานยังทำให้เด็กมีระเบียบวินัยในการดูแลตนเอง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อสุขภาพเด็กใน ระยะยาว
ในกรณีที่ผู้ป่วยเด็กรู้สึกโดดเดี่ยว การได้เข้าร่วมกิจกรรมออกค่ายร่วมกับผู้ป่วยโรคเดียวกันหรือทำกิจกรรมกับชมรมเครือข่ายผู้เป็นเบาหวาน จะช่วยปรับทัศนคติของเด็ก และได้รับความรู้และกำลังใจในการดูแลเบาหวานอย่างถูกต้อง ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียด และข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ หรือ เฟซบุ๊ก สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี www.dmthai.org หรือที่ เว็บไซต์ ชมรมเพื่อเด็กและวัยรุ่นเบาหวาน www.thaidiabetes.com
กินข้าวแล้วอ้วน...จริงหรือ?
กินข้าวแล้วอ้วน...จริงหรือ?
แฟ้มภาพ
"บางคนเลือกที่จะไม่กินข้าว หรือแม้กระทั่งอาหารจำพวกแป้งอื่นๆ เลย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ผิด"
เมื่อต้องลดความอ้วน อาหารอย่างแรกๆ ที่จะถูกตัดออกจากโต๊ะอาหารมักจะเป็นเมนูขนมปัง เนย นม และข้าว ไปในทันที ซึ่งอาจเป็นความคิดที่ผิดและพร้อมทำลายสุขภาพเราให้แย่ลงได้ เพื่อทำความเข้าใจเรื่องโภชนาการกับความอ้วนให้ถูกต้อง โสพรรณ มานะธัญญา นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย และ ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย จึงร่วมกันจัดแคมเปญใหญ่รณรงค์ให้คนไทยมีความรู้เรื่องโภชนาการเกี่ยวกับการบริโภคข้าวที่ถูกต้องด้วยโครงการประกวดคลิปสั้น 30 วินาที ในหัวข้อ "อ้วนไม่อ้วนไม่เกี่ยวกับข้าว" พร้อมเผยข้อมูลวิชาการที่ถูกต้อง รณรงค์ให้ทุกคนลดความอ้วนด้วยการกินและใช้ชีวิตอย่างสมดุล ไม่ใช่งดข้าวในทุกๆ มื้อ
ตามที่โสพรรณ เผยว่า ปัจจุบันกระแสนิยมรักสุขภาพของคนไทยได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกกำลังกาย หรือการรับประทานอาหารโดยผู้บริโภคมีการตื่นตัวที่จะใส่ใจเลือกอาหารการกินของตัวเองมากขึ้น ทั้งคำนวณแคลอรี ใช้สูตรอาหารควบคุมน้ำหนัก แต่ก็ยังมีประเด็นที่ยังเข้าใจการรักษาสุขภาพแบบที่เข้าใจข้อมูลผิดๆ โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลที่ต้องการควบคุมน้ำหนักใช้วิธีเลิกกินข้าว เพราะเข้าใจผิดมาโดยตลอดว่าข้าวทำให้อ้วน แต่หันไปกินอาหารอย่างอื่นแทน ในขณะที่ในต่างประเทศนั้นเปลี่ยนจากการกินขนมปังมาเป็นข้าว เพราะข้าวให้คุณประโยชน์มากกว่าและให้แคลอรีน้อยกว่าในความเป็นจริง
ซึ่งจากการศึกษาตารางโภชนาการอาหารเปรียบเทียบแคลอรีจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณะสุข เผยว่า อาหารแต่ละชนิดที่ปริมาณ 100 กรัมเท่ากัน ข้าว ให้พลังงาน 133 กิโลแคลอรี ในขณะอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตแบบเดียวกัน เช่น ขนมปัง ให้พลังงาน 267 กิโลแคลอรี, เส้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ให้พลังงาน 400 กิโลแคลอรี, ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ ให้พลังงาน 160 กิโลแคลอรี ซึ่งล้วนให้พลังงานสูงกว่าการกินข้าวทั้งสิ้น หรือแม้กระทั่งอาหารคลีนที่นิยมรับประทานกันก็มีแคลอรีสูงกว่าข้าวแบบที่ทุกคนอาจจะนึกไม่ถึง อาทิ อกไก่ไม่ติดหนัง ให้พลังงาน 173 กิโลแคลอรี, เนื้อปลาไม่ติดหนัง ให้พลังงาน 173 กิโลแคลอรี, เนื้อวัวไม่ติดมัน ให้พลังงาน 233 กิโลแคลอรี, หมูย่าง ให้พลังงาน 333 กิโลแคลอรี จะเห็นได้ว่าการกินข้าวไม่ได้ทำให้อ้วนอย่างที่คิดแต่สาเหตุที่ทำให้อ้วนนั้นเป็นเพราะว่ามีการใช้พลังงานน้อยกว่าสิ่งที่กินเข้าไปในแต่ละวัน ในขณะเดียวกันคนที่เข้าใจผิดว่ากินข้าวแล้วอ้วนนั้นบางคนเลือกที่จะไม่กินข้าว หรือแม้กระทั่งอาหารจำพวกแป้งอื่นๆ เลย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ผิดไม่ดีต่อสุขภาพเป็นอย่างมากเพราะเมื่อไม่กินข้าวเลยร่างกายจะขาดสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ขาดวิตามินบีทำให้การเผาผลาญช้าลง ขาดพลังงานจนอ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด กินอาหารก็ไม่อยู่ท้อง ทำให้อยากกินจุกจิกตลอดเวลา และเป็นสาเหตุที่ทำให้การควบคุมน้ำหนักยากมากขึ้นไปกว่าเดิม เพราะฉะนั้นโครงการนี้จึงต้องการสร้างกระแสสร้างการรับรู้ข้อเท็จจริงและการเปลี่ยนทัศนคติของคนไทยเรื่องการรับประทานข้าวและชวนให้คนไทยหันมากินข้าวมากขึ้น
อาหารที่เหมาะสำหรับคนนอนดึก
อาหารที่เหมาะสำหรับคนนอนดึก
แฟ้มภาพ
“การนอนดึกทำให้เสียสุขภาพ” “นอนดึกไม่ดีโทรมเร็ว” รู้ทั้งรู้ ว่าการนอนดึกนั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพสัญญาณเบื้องต้นอาจเริ่มจากอาการมึนหัว ขอบตาคล้ำ ผิวพรรณไม่สดใส เป็นหวัดง่าย ภูมิแพ้กำเริบ ทานอาหารเยอะขึ้น ไปจนถึงเรื่องของระบบต่างๆ ภายในร่างกายที่พลอยจะรวนไปเสียหมด อย่างเช่นเรื่องระบบการย่อยอาหาร ระบบการเผาผลาญและการดูดซึมสารอาหารที่ทำงานได้ไม่เต็มที่ รวมไปถึงฮอร์โมนบางตัวอย่างเช่น growth hormone ที่จะลดปริมาณการหลั่งจนส่งผลให้ร่างกายเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็วอีกด้วย
เราจึงไม่แนะนำให้นอนดึก แต่บางอาชีพก็เลี่ยงไม่ได้ จำเป็นต้องนอนดึกนี่นา จะทำอย่างไรได้ วันนี้เราเลยมีความรู้ด้านโภชนาการที่เป็นประโยชน์สำหรับคนนอนดึกโดยเฉพาะมาฝากกัน ลองมาดูประโยชน์ของอาหารแนะนำแต่ละประเภทกันนะคะ
โปรตีนสีขาว อย่างเนื้อปลา อกไก่ ไข่ขาว เต้าหู้ : โปรตีนเหล่านี้จะช่วยในเรื่องการสร้างเคมีในสมองอย่าง โดพามีน เอพิเนฟริน ที่จำเป็นในการบำรุงสมองของคนที่นอนดึก
ถั่วเหลือง ไข่แดง : ร่างกายต้องการสารเคมีที่ทำงานเชื่อมโยงกันภายในสมองนั่นก็คือ “โคลีน” ซึ่งโคลีนนี้ จะช่วยในเรื่องความจำ ช่วยป้องกันอาการความจำเสื่อม ช่วยให้มีสมาธิดีขึ้น ความจำดีขึ้น นอกจากนั้นในไข่แดงยังมี ไบโอตินที่ช่วยบำรุงสมองและเส้นผมอีกด้วย
ข้าวกล้องงอก และธัญพืชต่างๆ เช่น พืชตระกูลถั่ว ข้าวบาเลย์ มอลต์ หรือลูกเดือย : อาหารประเภทนี้จะมีกาบ้าสูง ทำให้ตัวสื่อประสาทในสมองทำงานดีขึ้น ความจำก็จะดีขึ้นด้วย
ปลา : สมองต้องการโอเมก้า หรือน้ำมันปลา เมนูที่มีน้ำมันปลาสูงและหาทานได้ง่ายๆ ก็อย่างเช่น ปลาทู หรือใครอยากจะเลือกทานอาหารเสริมก็ควรเลือกที่ทำมาจากปลาทะเล สังเกตปริมาณของ DHA รวมถึง EPA ที่มีอยู่จริงเทียบต่อปริมาณทั้งหมด ทั้งคู่ต้องมีมากกว่า 20% และในหนึ่งเม็ดควรจะมีสัดส่วนปริมาณของ DHA : EPA เป็น 1:2 หรือ 2:3 ที่เป็นส่วนผสมที่ออกฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ช็อคโกแลต : แนะนำเป็นช็อคโกแลตดำนะคะ เพราะในช็อคโกแลตจะมีส่วนผสมของสารที่ช่วยให้เลือดในสมองไม่อุดตัน
สารสกัดจากใบแปะก๊วย : เพราะใบแปะก๊วยมีสารแอนตี้ออกซิเดนท์ ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันมะเร็ง ช่วยในเรื่องการไหลเวียนของเลือดที่จะไปเลี้ยงสมอง ช่วยให้ความจำดีขึ้น และยังช่วยยับยั้งความเสื่อมของสมองได้อีกด้วย
วิตามิน B : คุณสมบัติของวิตามิน B คือ ช่วยในเรื่องระบบประสาท ช่วยลดอาการอ่อนเพลีย และช่วยให้การดูดซึมอาหารดีขึ้น ช่วงไหนที่มีอาการง่วงๆ มึนๆ วิตามิน B ช่วยได้เลยค่ะ
อย่างไรก็ตาม อาหารเหล่านี้เป็นเพียงตัวช่วยที่จะช่วยฟื้นฟูร่างกาย ทั้งในส่วนของสมองและระบบประสาทให้ดีขึ้น กระนั้นการฝืนธรรมชาติย่อมไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะร่างกายของเรามีนาฬิกาธรรมชาติที่บอกการทำงานของอวัยวะส่วนต่างๆ ในร่างกายอยู่ การดูแลตัวเองให้เข้ากับธรรมชาติจึงจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดค่ะ
วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560
บุหรี่..ทำไมถึงเลิกยาก?
บุหรี่ ทำไมถึงเลิกยาก
ในยุคปัจจุบันนี้คงไม่มีใครไม่ทราบถึงอันตรายของบุหรี่ที่มีต่อสุขภาพของทั้งผู้สูบเองและผู้ที่อยู่รอบข้าง แต่จำนวนผู้สูบบุหรี่ในช่วงหลายปีมานี้กลับ ไม่ได้ลดลงเลย แม้จะมีการรณรงค์ส่งเสริมรวมถึงมี มาตรการทางกฎหมายเพื่อการเลิกบุหรี่มากสักเพียงใดก็ตาม
จากการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของ คนไทยโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 พบว่า ในจำนวนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปทั้งสิ้น 54.8 ล้านคน เป็นผู้ที่สูบบุหรี่มากถึง 11.4 ล้านคน หรือร้อยละ 20.7 โดยสูบเป็นประจำ 10 ล้านคน แล สูบนานๆ ครั้ง 1.4 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ที่มีผู้สูบบุหรี่อยู่ร้อยละ 19.9
มีการประเมินกันว่าผู้สูบบุหรี่เหล่านี้จำนวนถึง 1 ใน 4 จะเสียชีวิตด้วยโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ในอีก 10-20 ปีถัดไป เพราะควันบุหรี่มีสารเคมีมากกว่า 4,000 ชนิด โดยเป็นสารพิษมากกว่า 250 ชนิด และเป็นสารก่อมะเร็งมากกว่า 50 ชนิด ในแต่ละปีมีคนไทยจำนวนมากถึง 42,000 - 52,000 คนเสียชีวิตด้วยโรคที่เป็นผลมาจากการสูบบุหรี่โดยเฉพาะโรคมะเร็งปอด โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด และโรคถุงลมโป่งพอง ทั้งที่สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคลงได้อย่างมากเพียงแค่เลิกสูบบุหรี่เท่านั้น
ทำไมการเลิกบุหรี่จึงเป็นเรื่องยาก?
นายแพทย์ประธาน วาทีสาธกกิจ อายุรแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด ศูนย์โรคปอดและโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ให้ข้อมูลว่า สาเหตุก็เพราะบุหรี่นั้นไม่ต่างอะไรกับยาเสพติด โดยการติดบุหรี่สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ด้านหลักๆ ด้วยกัน คือ การติดทางจิตใจซึ่งมักเกิดจากความเคยชินและความเชื่อที่ว่าบุหรี่ช่วยให้เกิดความสบายคลายเครียดได้ กับการติดทางร่างกายซึ่งก็คือการติดนิโคตินที่เป็นสารเสพติดในบุหรี่นั่นเอง
จากการศึกษาพบว่าเมื่อสูบบุหรี่ สารนิโคตินจะดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิตและผ่านไปยังสมองอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 6 วินาทีเท่านั้น ผู้สูบจึงรู้สึกผ่อนคลาย ลดความวิตกกังวลลงได้ในทันที แต่ก็เป็นผลระยะสั้นเท่านั้น เพราะเมื่อระดับนิโคตินลดลง อารมณ์ทางบวกนั้นก็หายไป หากต้องการความสบายอีกก็ต้องสูบอีกจนกลายเป็นการเสพติดในที่สุด
เมื่อติดบุหรี่แล้ว การจะเลิกมักทำได้ยาก เพราะสิ่งที่ตามมาคืออาการถอนยาหรืออาการขาดนิโคติน ซึ่งจะเริ่มภายใน 4-6 ชั่วโมงหลังการหยุดบุหรี่ โดยผู้สูบจะมีอาการดังนี้ คือ อาการด้านอารมณ์และจิตใจ ได้แก่ อยากยา ซึมเศร้า วิตกกังวล กระวนกระวาย หงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย สมาธิลดลง นอนไม่หลับ อาการด้านร่างกาย ได้แก่ หัวใจเต้นช้าลง อยากอาหาร น้ำหนักตัว เพิ่มขึ้น ไม่มีเรี่ยวแรง ปวดศีรษะ ท้องผูก เหงื่อออก เป็นต้น
สำหรับวิธีเลิกบุหรี่นั้นสามารถทำได้หลายวิธี ทั้งโดยการใช้ยาและไม่ใช้ยา เช่น วิธีหักดิบหรือเลิกด้วยตัวเอง โดยการหยุดสูบบุหรี่ทันที อย่างไรก็ตาม จากสถิติพบว่าร้อยละ 90 ของผู้ที่พยายามเลิกบุหรี่ด้วยตัวเองไม่ประสบความสำเร็จในการเลิกและกลับไปสูบใหม่ภายใน 1 สัปดาห์เพราะเกิดอาการขาดนิโคตินนั่นเอง
การใช้พฤติกรรมบำบัด เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เคยชิน รวมถึงหลีกเลี่ยงอารมณ์ที่ทำให้เกิดความอยากสูบ การใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่ โดยปัจจุบันมียา 2 กลุ่ม ได้แก่ ยาที่มีสารนิโคตินทดแทนในขนาดต่ำใน รูปแบบของหมากฝรั่งอดบุหรี่ หรือแผ่นแปะผิวหนังนิโคติน กับยาชนิดเม็ดที่ไม่มีนิโคตินสำหรับช่วยลดอาการถอนยา เนื่องจากขาดนิโคติน การฝังเข็ม เพื่อช่วยลดอาการอยากและคลายความหงุดหงิด
ทั้งนี้ ผู้สูบบุหรี่อาจใช้หลายวิธีร่วมกันได้แต่ควรเริ่มด้วยวิธีไม่ใช้ยาก่อน หากเลิกไม่ได้จึงพิจารณาเลิกด้วยวิธีใช้ยาต่อไป
นอกจากนี้ ในการวางแผนเลิกบุหรี่นั้น สิ่งที่ควรทำควบคู่กันไปคือการเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคที่เป็นผลจากการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะโรคมะเร็งปอดซึ่งมีบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดถึงร้อยละ 90 และผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นโรคมากกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง 22 เท่า
โรคมะเร็งปอด เป็นโรคที่ไม่มีอาการเตือนในระยะแรก กว่าที่ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ก็เป็นระยะที่ลุกลามแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายแล้ว ดังนั้น ผู้ที่สูบบุหรี่ทั้งที่ยังสูบอยู่หรือเคยสูบแต่เลิกสูบมาเป็นเวลาน้อยกว่า 15 ปี มีอายุ 50 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวสูบบุหรี่ ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดด้วยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (low-dose computed tomography) ซึ่งเป็นการตรวจที่ใช้ปริมาณรังสีน้อยและใช้วิธีการถ่ายภาพสามมิติที่ให้ความละเอียดมากกว่าวิธีการตรวจเอกซเรย์ปอดธรรมดา
ในส่วนของการเลิกบุหรี่ด้วยวิธีพฤติกรรมบำบัดนั้น ศูนย์โรคปอดและโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดให้บริการด้านการเลิกบุหรี่มานานถึง 10 ปี ภายใต้การดูแลของแพทย์และมีพยาบาลผู้ประสานงานทางคลินิกเป็นผู้ให้คำปรึกษา โดยใช้วิธีเสริมสร้างแรงจูงใจภายในเพื่อการเลิกบุหรี่ เนื่องจากแรงจูงใจภายในเป็นปัจจัยสำคัญในการปรับพฤติกรรมเลิกสูบบุหรี่ โดยผู้ป่วยจะได้รับการบำบัดตามหลักการ 5A ก่อนเข้ารับคำปรึกษา ซึ่งได้แก่ Ask การสอบถามอาการและพฤติกรรมการสูบบุหรี่ Advise การแนะนำวิธีเลิกบุหรี่โดยการสร้างแรงจูงใจ Assess การประเมินอาการผู้สูบบุหรี่ Assist การช่วยเหลือเมื่อผู้สูบบุหรี่เกิดความอยากบุหรี่ Arrange การติดตามผลการปรับพฤติกรรมของ ผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การให้บริการปรึกษานั้นจะใช้ระยะเวลา ทั้งสิ้น 1 ปี เริ่มตั้งแต่การประเมินสภาวะการเสพติดบุหรี่ด้วยการวัดระดับการติดสารนิโคตินและระดับก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ การให้คำปรึกษาที่สอดคล้องกับระดับความต้องการที่จะเลิกสูบบุหรี่ เช่น ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะยังไม่คิดจะเลิกสูบบุหรี่ ผู้ป่วยที่คิดจะเลิกแต่ยังไม่มีความมั่นใจ ผู้ป่วยที่ตั้งใจและพร้อมจะเลิก และผู้ป่วยที่เริ่มลงมือเลิกสูบแล้วแต่ยังไม่สำเร็จ การติดตามผู้ป่วยทั้งโดยตรงและทางโทรศัพท์เพื่อให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด ด้วยการให้คำปรึกษาอย่างเป็นระบบและครบวงจรโดยทีมสหสาขาวิชาชีพที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านเพื่อช่วยให้ผู้สูบบุหรี่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเลิกบุหรี่ให้ได้
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)